ข้ามไปเนื้อหา

สัญญาแลกเปลี่ยน (การเงิน)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สัญญาแลกเปลี่ยน คือข้อตกลงระหว่างคู่สัญญาสองฝ่ายที่ตกลงกันที่จะแลกเปลี่ยนตราสารทางการเงิน หรือ กระแสเงินสด หรือการชำระเงินในช่วงเวลาหนึ่งๆ สัญญาแลกเปลี่ยนโดยทั่วไปมักอ้างอิงถึงเงินสดตามที่อยู่บนยอดเงินตามสัญญา (Notional Amount)[1][2] สัญญาแลกเปลี่ยนมักเป็นสัญญาที่ตกลงกันระหว่างบริษัทหรือสถาบันการเงินโดยไม่ผ่านตลาด ส่วนนักลงทุนรายย่อยโดยทั่วไปมักไม่ได้มีส่วนในธุรกรรมสัญญาแลกเปลี่ยน[3]

ประวัติ

[แก้]

สัญญาแลกเปลี่ยนปรากฏสู่สาธารณชนครั้งแรกเมื่อไอบีเอ็มและธนาคารโลก ทำสัญญาสัญญาแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ในปี ค.ศ. 1981[4] ในปัจจุบัน สัญญาแลกเปลี่ยนเป็นตราสารทางการเงินที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสูงสุด โดย BIS รายงานว่ามูลค่าสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยคงค้างมีมากกว่า 348 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ค.ศ. 2010 [5]

ชนิดของสัญญาแลกเปลี่ยน

[แก้]

สัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย

[แก้]

สัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย (Interest rate swap) เป็นสัญญาแลกเปลี่ยนที่พบได้บ่อยที่สุด เนื่องจากบริษัทบางบริษัทจะได้รับประโยชน์ในตลาดที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ ในขณะที่อีกบริษัทจะได้ประโยชน์ในตลาดที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ในกรณีที่บริษัทจัดหาแหล่งเงินกู้ที่ถูกที่สุดในขณะนั้นในประเภทอัตราดอกเบี้ยที่ไม่ได้ประโยชน์ บริษัทเหล่านี้จะทำธุรกรรมในสัญญาแลกเปลี่ยนซึ่งมีผลให้เงินกู้ซึ่งเดิมเป็นอัตราดอกเบี้ยชนิดคงที่เปลี่ยนเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว และในทางกลับกันเช่นกัน ตัวอย่างเช่น คู่สัญญา ข จ่ายดอกเบี้ยให้แก่คู่สัญญา ก บนฐานของอัตราดอกเบี้ยลอยตัว LIBOR + 70 จุด ในขณะที่คู่สัญญา ก จ่ายดอกเบี้ยในอัตราคงที่ที่ 8.65% การจ่ายดอกเบี้ยจะคำนวณจากยอดเงินต้นโดยที่อัตราประเภทแรกจะเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวซึ่งเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละงวดชำระ และคำนวณอยู่บนฐานของอัตราดอกเบี้ย LIBOR โดยในทางปฏิบัติ คู่สัญญา ก และ ข จะได้รับดอกเบี้ยน้อยกว่าอัตราหน้าสัญญาเล็กน้อย เนื่องจากธนาคารในฐานะคนกลางจะคิดค่าธรรมเนียมส่วนต่าง

สัญญาแลกเปลี่ยนสกุลเงิน

[แก้]

สัญญาแลกเปลี่ยนสกุลเงิน (Currency swap) คือสัญญาแลกเปลี่ยนเงินต้นและดอกเบี้ยของเงินกู้ในสกุลหนึ่งกับเงินต้นและดอกเบี้ยของเงินกู้ในอีกสกุลหนึ่งที่มูลค่าเทียบเท่ากัน สัญญาประเภทนี้เกิดประโยชน์ในลักษณะเดียวกับสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย

อ้างอิง

[แก้]
  1. Financial Industry Business Ontology Version 2, Annex D: Derivatives, EDM Council, Inc., Object Management Group, Inc., 2019
  2. "What is a swap?". Investopedia. สืบค้นเมื่อ 14 October 2017.
  3. SEC Charges International Dealer That Sold Security-Based Swaps to U.S. Investors
  4. Ross; Westerfield; Jordan (2010). Fundamentals of Corporate Finance (9th ed.). McGraw Hill. p. 746.
  5. "OTC derivatives statistics at end-June 2017". www.bis.org (ภาษาอังกฤษ). 2017-11-02. สืบค้นเมื่อ 2018-07-16.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]